วิธีดูแลแมวท้องและการดูแลแมวหลังคลอด
การดูแลแมวท้องในช่วงแรกที่เรารู้ว่าแมวเราตั้งท้องก็ต้องดูแลให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม ต้องปรับพฤติกรรมบางอย่างของเราเองด้วย เช่น อย่าเล่นกับแมวรุนแรงเกินไป หรือห้ามดุแมว ห้ามตีแมว เพราะจะทำให้เกิดความเครียด เป็นต้น เราจึงต้องศึกษาเคล็ดลับการดูแลแม่แมวท้องเพื่อสุขภาพของลูกแมวที่แข็งแรง

วิธีดูแลแมวท้อง
- ห้ามทำให้แม่แมวเครียด เพราะถ้าแม่แมวเครียดอาจจะทำให้แท้งลูกได้ ข้อนี้จึงสำคัญ ต้องระวังมากเป็นพิเศษ แยกแม่แมวมาอยู่ในที่ปลอดภัย ไม่มีสุนัขวิ่งไล่ หรืออันตรายจากสิ่งอื่น
- ดูแลเรื่องอาหารการกิน ในช่วงตั้งท้องก็ต้องให้แม่แมวกินอาหารสูตรแมวเด็ก เพราะอาหารสูตรแมวเด็กจะมีสารอาหารที่ครบถ้วน มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ก็ยังมีคำถามว่า ระหว่างอาหารสูตรแมวท้องกับอาหารสูตรลูกแมว แบบไหนดีกว่ากัน? แนะนำว่าอาหารสูตรลูกแมวมีคุณค่าทางอาหารมากกว่า ทั้งนี้ก็อยู่ที่เราเลือก
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำให้แมวตั้งท้อง เพราะจะทำให้แม่แมวเครียด ซึ่งแมวบางตัวการจับอาบน้ำแต่ละทีก็เล่นเอาเหนื่อยเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังอาจทำให้แม่แมวป่วยไม่สบายจากการอาบน้ำได้
- อย่าให้แม่แมววิ่งเล่นออกกำลังกายรุนแรง โดยเฉพาะก่อนคลอด 3 วัน
- สังเกตวันไหนบีบน้ำนมแม่แมวออก แสดงว่าไกล้จะคลอดแล้ว
- บำรุงแคลเซียม แต่อย่าบำรุงแคลเซียมมากไป อาจจะทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ

การดูแลแมวหลังคลอด
- ก็ยังคงต้องบำรุงในเรื่องของอาหารเหมือนเดิม จะได้มีน้ำนมไปเลี้ยงลูกน้อย เน้นบำรุงแคลเซียมหลังคลอด 1 เดือน
- ระวังอย่าให้แม่แมวเหยียบ หรือนั่งทับลูกตัวเอง จัดที่อยู่ให้แม่แมวอย่างอบอุ่น ไม่มีคนพลุกพล่าน แม่แมวจะรู้สึกปลอดภัย หากไม่ปลอดภัยแม่แมวจะคาบลูกแมวย้ายที่ใหม่ทันที
- ดูแลเรื่องความสะอาดสภาพแวดล้อม ระวังเป็นเชื้อรา ไรในหู ไรที่ขนและผิวหนัง

ดังนั้นหากใครที่กำลังลุ้นแม่แมวเมื่อไหร่จะคลอด ก็นับไปสองเดือนบวกลบ 10 วัน เมื่อลูกแมวคลอดออกมาแล้วครบ 2 เดือน อย่าลืมนำไปฉีดวัคซีนให้ครบทุกเข็ม เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และเอาแม่แมวไปตรวจสุขภาพหลังคลอดด้วย